Friday, July 3, 2009

คำแนะนำในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม

เนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดพลังงานควบคุม พ.ศ.2536 (ออกตามพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ.2535) กำหนดให้พลังงานไฟฟ้าซึ่งมีขนาดการผลิตรวมของแต่ละแหล่งผลิตตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไป เป็นพลังงานควบคุม

และเนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2552 (ออกตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550) กำหนดให้กิจการผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตรวมของแต่ละแหล่งผลิตต่ำกว่าหนึ่งพันกิโลโวลต์แอมแปร์จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.)

ดังนั้นผู้ที่มีการผลิตไฟฟ้าซึ่งมีขนาดการผลิตรวมของแต่ละแหล่งผลิตตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ถึง 999 กิโลโวลต์แอมแปร์จะต้องยื่นขออนุญาตกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 17 ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 (อาคาร 6 ชั้น 7)โทร 0 2226 1827, 0 2226 1379 โทรสาร 02 225 9739

และกิจการผลิตไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตรวมของแต่ละแหล่งผลิตตั้งแต่หนึ่งพันกิโลโวลต์แอมแปร์ขึ้นไปจะต้องยื่นขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 19 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร 0 2207 3599 ต่อ 621 โทรสาร 0 2207 3502

และขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก คุณสุมิตรด้วยครับ (sumit_y@dede.go.th)

Thursday, July 2, 2009

คัมมิ่นส์ เปิดตัวเครื่องยนต์รุ่น X3.3

หลังจากที่วันนี้ผมได้เข้าไปร่วมงานสัมมนาที่ บริษัท คัมมิ่นส์ ดีทแฮล์ม จำกัด ได้จัดขึ้นที่โรงแรม อมารี บูเลอวาร์ด สุขุมวิท ซอย 5
ภายในงานจะมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานของคัมมิ่นส์ และผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์รุ่นใหม่ คือรุ่น X3.3 ซึ่งจะใช้สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสองรุ่นคือ รุ่น C33 D5 (ขนาด 33 เควีเอ) และรุ่น C38 D5 (ขนาด 38 เควีเอ)

โดยงานนี้บริษัท คัมมิ่นส์ ได้นำเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่น C33 D5 ซึ่งติดตั้งภายในตู้ครอบเครื่องแบบเก็บเสียง (ระดับความดังของเสียงไม่เกิน 75 เดซิเบลที่ระยะ 1 เมตร) มา Demo สตาร์ทเพื่อให้ลองสัมผัสกับประสิทธิภาพและการทำงานของเครื่อง

ซึ่งทางผู้จัดให้ข้อมูลว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รุ่นดังกล่าวเสียงเงียบ เคลื่อนย้ายได้สะดวก บำรุงรักษาได้ง่าย และมีการใช้ชุดควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่นใหม่ด้วย ซึ่งงานนี้ผมประทับใจมากครับโดยเฉพาะเรื่องอาหาร

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอชุดกรองน้ำมันดักน้ำก่อนที่จะนำน้ำมันมาผ่านไส้กรองจริง ซึ่งน่าสนใจมาก และนอกจากนี้ในช่วงบ่ายก็มีเจ้าหน้าที่ของคัมมิ่นส์จากสิงคโปร์มาอธิบายถึงข้อแนะนำสำหรับการติดตั้งอีกด้วย เห็นทางทีมงานคัมมิ่นส์อีเมล์มาแจ้งว่ายินดีจะส่งภาพบรรยากาศภายในงานมาให้ชมกันด้วย ซึ่งผมยินดีที่จะนำภาพดังกล่าวมาลงในเว็บไซต์นี้ครับ

Tuesday, June 30, 2009

การขนาน (Synchronize or Paralleling) เครื่องกำเนิดไฟฟ้า

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถนำมาเดินขนานกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือกับไฟหลวงได้ แต่ก่อนที่แหล่งกำเนิดไฟฟ้าสองแหล่งจะขนานกันได้นั้น ชุดควบคุมการขนานจะต้องเช็คโวลท์ ความถี่ และ phase shift ให้ตรงกันเสียก่อนที่จะสับให้ไฟเข้ามาขนานกันเพื่อจ่ายโหลดต่อไป ซึ่งลักษณะของการ Sync นั้น โดยทั่ว ๆ ไปมักจะเรียกกันวงการว่า sync ขาไป กับ sync ขากลับ

sync ขาไป หมายถึง สถานการณ์ที่ทราบแล้วว่าไฟหลวงจะดับ ดังนั้นจึงสั่งสตาร์ทเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้วนำไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนานเข้ากับไฟหลวงก่อนที่ไฟจะดับ ซึ่งเมื่อไฟหลวงดับไปแล้วแต่ก็ยังมีไฟจากเจนคอยจ่ายให้กับโหลดอยู่นั่นเอง (สังเกตว่าลักษณะการทำงานเช่นนี้จะไม่มีไฟขาดหายไปเลย) หรืออาจจะเป็นลักษณะของการขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลาย ๆ เครื่องเข้าด้วยกันก่อนแล้วขนานกับไฟหลวงอีกทีก็ได้ ตัวอย่างการใช้งานเช่นนี้พบได้มากในยุคที่ราคาของน้ำมันดีเซลยังราคาถูก ก็จะเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจ่ายไฟให้กับโหลดเพื่อตัดพีคของการไฟฟ้า แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลสูงเกินกว่าที่จะเดินเครื่องเพื่อตัดพีคแล้ว

sync ขากลับ หมายถึง สถานการณ์ที่ไฟดับไปแล้ว และใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจ่ายไฟให้กับโหลดอยู่ และหลังจากที่ไฟหลวงกลับมาก็จะนำไฟหลวงมาขนานเข้ากับไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก่อน แล้วจึงค่อยปลดไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออก (สังเกตว่าลักษณะเช่นนี้ก็จะไม่มีไฟขาดหายไปเช่นกัน)

ซึ่งหน่วยงานที่ต้องการใช้งานประเภทนี้จะค่อนข้างซีเรียสเรื่องการขาดหายไปของไฟหรือการเกิดไฟกระพริบในช่วงเวลา transfer แหล่งจ่าย โดยค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ควบคุมการขนานนั้นค่อนข้างราคาสูง ในปัจจุบันต้องมีงบประมาณไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท สำหรับตู้ควบคุมการ sync