Saturday, November 22, 2008

ผู้ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าคนแรก


ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) เกิด 22 กันยายน ค.ศ.1791 กรุงลอนดอน อังกฤษเสียชีวิต 25 สิงหาคม ค.ศ.1867 ลอนดอน อังกฤษ ฟาราเดย์ เป็นชาวอังกฤษเกิดมาในครอบครัวฐานะยากจน บิดามีอาชีพเป็นช่างตีเหล็ก และรับจ้างใส่เกือกม้าทำให้เขาได้รับการศึกษาน้อย แค่ชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ก็ต้องลาออกเพื่อมาทำงานตั้งแต่อายุ 13 ปี อาชีพแรกคือ เด็กส่งหนังสือพิมพ์ในร้านขายหนังสือแห่งหนึ่ง เพราะความขยันและมีนิสัยรักการอ่านจนทำให้เขาได้มาทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังอย่าง เซอร์ฮัมฟรี เดวี่ (Sir Humphy Davy) ด้านเคมี เป็นผู้ช่วยห้องปฏิบัติการเคมี และได้ติดสอยห้อยตามไปทั่วทุกที่ จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาฯ ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ ความรู้ต่างๆ มากมาย จนสามารถสร้างชื่อเสียงแก่ตนเองในฐานะใหม่คือ นักวิทยาศาสตร์และเป็นถึง ผู้อำนวยการห้องทดลองแห่งราชบัณฑิตยสภา (Royal Institution) แต่ในใจลึกๆนั้นเขาสนใจด้านไฟฟ้ามากกว่า เขาได้พบนักฟิสิกส์มากมายและทำการทดลองเกี่ยวกับไฟฟ้า จนทำให้เขามาศึกษาทดลองเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้า จนได้กระแสไฟฟ้าที่เรียกว่า “กระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำ” จนถึงการประดิษฐ์เครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าที่เรียกว่า “ไดนาโม” เป็นเครื่องที่เปลี่ยนพลังงานกล เช่นพลังงานไอน้ำ พลังงานลม พลังงานความร้อน โดยอาศัยการเหนี่ยวนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า เขาเผยแพร่ผลงานชิ้นนี้ไปในงานเขียนหนังสือชื่อ EXPERIMENTAL RESEARCHS ในปี 1922 ในปี 1825 เขาสามารถประดิษฐ์หม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อประโยชน์ในการแปลงศักย์ไฟฟ้าให้ได้สูงต่ำตามที่ต้องการ และได้รับให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องทดลองราชบัณฑิตยสภา และเป็นศาสตราจารย์ด้านเคมีอีกด้วย นำมาซึ่งชื่อเสียง เงินทอง ต่อมาเขาทำการทดลองค้นพบโลหะชนิดหนึ่งเรียกว่า “สแตนเลส” ซึ่งนำเหล็กมาผสมกับ นิกเกิล มีคุณสมบัติที่เหนียว และไม่เป็นสนิม และบัญญัติศัพท์ทางไฟฟ้าอีกหลายคำ
ผลงานการค้นพบ
- ค้นพบสมบัติของแม่เหล็กที่ทำให้เกิดไฟฟ้า
- ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือ ไดนาโม (Dynamo)
- นำเหล็กมาผสมกับนิกเกิล เรียกว่า สแตนเลส ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหนียว และไม่เป็นสนิม
- พบสารประกอบเบนซีน (Benzene)
- บัญญัติศัพท์ทางวิทยาศาสตร์หลายคำเช่น ไออน(Ion) = ประจุ, อีเล็กโทรด (Electrode) = ขั้วไฟฟ้า,
คาโทด (Cathode) = ขั้วลบ, แอโนด (Anode) = ขั้วบวก

อัตราการกินน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator)

ปกติแล้วอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Consumption) ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) นั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณโหลดที่ใช้ โดยปกติ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 1000 เควีเอ จะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 200 ลิตร ต่อชั่วโมง (เดินที่ 100% โหลด) แต่ถ้าเดินที่ 50% โหลด (500 เควีเอ) อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงก็จะประมาณ 100 ลิตร ต่อชั่วโมง เช่นเดียวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 500 เควีเอ ถ้าเดินที่ 100% โหลด ก็จะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเท่ากับ 100 ลิตร เช่นกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้าจ่ายโหลด 10 เควีเอ จะใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 2 ลิตรต่อชั่วโมง (โดยประมาณ) ทุก Brand จะมีค่าอัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงใกล้เคียงกัน
ตัวอย่างการคำนวณ
ถ้าอยากทราบว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 2000 เควีเอ เดิน 100% โหลดจะใช้น้ำมันเท่าไหร่? ก็สามารถนำค่า (2000/10) x 2 = 400 ลิตรต่อชั่วโมง เป็นต้น

ถ้าอยากทราบว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 150 เควีเอ เดิน 100% โหลดจะใช้น้ำมันเท่าไหร่? ก็สามารถนำค่า (150/10) x 2 = 30 ลิตรต่อชั่วโมง เป็นต้น

เพราะฉะนั้นเราจะได้สูตร อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง = (KVA/10) x2 = (KVA/5) ลิตรต่อชั่วโมง

Wednesday, November 19, 2008

เมื่อไหร่ควรจะหุ้มฉนวนกันความร้อนท่อไอเสีย

ถ้าถามว่าการหุ้มฉนวนกันความร้อนจำเป็นมั้ย ผมขอตอบว่าแล้วแต่สภาพของห้องเครื่อง เพราะการหุ้มฉนวนกันความร้อนจุดประสงค์หลักคือเพื่อป้องกันคนที่มาสัมผัสกับท่อไอเสีย (เพราะขณะที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงาน ท่อไอเสียจะมีอุณหภูมิสูงมาก) ดังนั้นหากแนวท่อไอเสียของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่คนทั่วไปสามารถสัมผัสได้โดยง่ายแล้วก็ไม่จำเป็นต้องหุ้มฉนวนกันความร้อนครับ แต่โดยทั่วไปห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator room) ที่ทำระบบห้องเก็บเสียง มักจะหุ้มฉนวนกันความร้อนท่อไอเสียครับ

วัสดุที่ใช้สำหรับหุ้มฉนวนกันความร้อนท่อไอเสีย

สำหรับวัสดุที่ใช้ในการหุ้มฉนวนกันความร้อนให้กับท่อไอเสียที่นิยมใช้กันก็จะมี 2 อย่างครับ คือ เป็น Rockwool กับ Calcium Silicate โดยมาตรฐานทั่วไปที่ผู้ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจัดให้ก็จะเป็นชนิด Rockwool ครับ นอกจากสเปคจะระบุว่าให้ใช้ Calcium Silicate เท่านั้น ผู้ขายจึงจะจัดให้ครับ ถ้าถามในเรื่องของราคาแล้ว การหุ้มฉนวนกันความร้อนด้วย Calcium Silicate จะใช้ต้นทุนสูงกว่าครับ

Fixed Grill กับ Gravity Shutter

ในส่วนของบานเกล็ดด้านลมออก (ด้านหน้าหม้อน้ำ) นั้นที่นิยมทำกันจะมีสองแบบคือเป็นแบบบานเกล็ดปิดตาย (Fixed Grill) กับแบบบานเกล็ดปิดเปิดตามแรงลม (Gravity Shutter) โดยขนาดของช่องลมออกที่ติดตั้งบานเกล็ดต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะระบายลมร้อนที่ถูกเป่าออกมาจากหม้อน้ำ และสามารถกันน้ำฝนสาดได้ ซึ่งโดยในความเห็นของผมแล้วบานเกล็ดชนิดปิดเปิดตามแรงลม (Gravity Shutter) นั้นมันจะมีส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่ และถ้าติดตั้งไปนาน ๆ แล้วมันมักจะฝืด ทำให้พอเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงาน แรงลมไม่สามารถดันให้บานเกล็ดเปิดได้ ก็จะทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า Heat และ Shutdown ในที่สุด ดังนั้นสำหรับผมแล้ว ผมชอบใช้เป็นแบบ Fixed Grill มากกว่าครับ

Saturday, November 15, 2008

สปริงรองแท่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำเป็นต้องติดตั้งมั้ย?

โดยทั่วไปเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กมักจะมี (Vibration Isolator rubber type) ลูกยางรองแท่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาจากโรงงานอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งสปริงเพิ่ม (Vibration Isolator spring type) เพราะนอกจากจะเปลืองค่าใช้จ่ายแล้วยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเรโซแนนท์ resonance (คือการมีการสั่นสะเทือนมาก) ตามมาได้ ดังนั้น ถ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ประกอบสำเร็จรูปจากต่างประเทศมามีลูกยางรองแท่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้วไม่ต้องติดตั้งสปริงเพิ่มครับ ถึงแม้ว่าในสเปคจะระบุไว้ก็ตาม (เพราะสเปคบางทีก็ copy กันมา เอาสเปครุ่นใหญ่มาใส่รุ่นเล็ก บางทีข้อความในแบบกับในสเปคยังแย้งกันเลย) เพราะในแง่การใช้งานจริง ๆ แล้ว ถ้าติดตั้งสปริงรองแท่นเครื่องเพิ่มเข้าไปแล้วเครื่องมันสั่น (แล้วคุณจะติดตั้งมันเข้าไปทำไม ??) ถ้าเจอเหตุการณ์ติดตั้งสปริงแล้วมันสั่นมาก ลองถอดสปริงออกดูสิครับ ผมว่าเผลอ ๆ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเดินเรียบทำงานนิ่งเลยทีเดียวหล่ะครับ
แต่สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ประกอบในประเทศส่วนใหญ่จะไม่ได้ติดตั้งลูกยางรองแท่นเครื่อง ดังนั้นจึงต้องให้ผู้ขายจัดสปริงรองแท่นเครื่องให้ครับ

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ภาคต่อ

เคยมีคนถามกันเยอะครับว่าควรทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากี่ชั่วโมง ถ้าผมซื้อใช้เองนะ ก็จะเลือกใช้อยู่ระหว่าง Cummins กับ Caterpillar แล้วก็จะไม่ให้ทดสอบโหลดเทียมด้วย เนื่องจากถ้าผู้ซื้อต้องการทดสอบ generator ด้วยโหลดเทียม (load bank) มันต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มแน่นอน เช่น ค่าน้ำมัน, ค่าแรงช่าง, ค่าสึกหรอของโหลด เป็นต้น แล้วคุณจะไปเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ทำไม ในเมื่อเขามีการรับประกันให้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าคุณทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยให้ลองเดินเครื่อง 8 ชั่วโมงบ้าง 10 ชั่วโมงบ้าง บางทีเคยเจอ 24 ชั่วโมง ถามหน่อยเหอะ ใครจะไปนั่งเฝ้าคอยจดผลการ test เปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ (ทำให้โลกร้อนเปล่า ๆ) ค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อก็เพิ่มขึ้น แถมต้องเสียเวลาไปนั่งฟังเสียงอันแสบแก้วหูในขณะที่ทดสอบอีกต่างหาก

Friday, November 14, 2008

ท่าอากาศยานไทย ประกวดราคาซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 1250kVA จำนวน 4 เครื่อง

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ต้องการประกวดราคาซื้อ พร้อมติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดไม่น้อยกว่า 1,250 kVA. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 4 เครื่อง
กำหนดฟังคำชี้แจง, ตอบข้อซักถามและดูสถานที่ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 เวลา 10.30 น. โดยพร้อมกันที่ ส่วนจัดซื้อ ฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 6 อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อาคาร AOB)

กำหนดยื่นประกวดราคาซื้อในวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ถึง 9 ธันวาคม 2551 ระหว่างเวลา 13.30 น. ถึง 14.30 น. ณ ส่วนจัดซื้อ ฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 6 อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อาคาร AOB) และกำหนดเปิดซองใบเสนอราคาในวันที่ 9 ธันวาคม 2551 เวลา 14.30 น. ผู้สนใจติดต่อขอรับ/ซื้อเอกสารประกวดราคาซื้อ ในราคาชุดละ 16,000 บาท ได้ที่ ส่วนจัดหาพัสดุ ฝ่ายพัสดุ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 333 ถนนเชิดวุฒากาศ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10210 และที่ ส่วนจัดซื้อฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 6 อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อาคาร AOB) ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.airportthai.co.th หรือสอบถามทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2535-1172 และ 0-2132-5409 ในวันและเวลาราชการ

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://view.gprocurement.go.th/01_procure/view_online_notice.php?id=240432&display_status=A

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต้องการเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 60kW 33 เครื่อง

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ต้องการซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(PEA-I-032/2008) ขนาด 60 kW Prime Rating พร้อมตู้ครอบเครื่องแบบเก็บเสียง (ระดับความดังไม่เกิน 80 เดซิเบลที่ระยะ 1 เมตร จำนวน 33 เครื่อง
วงเงินงบประมาณเบื้องต้น 23,100,000 บาท
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่
Email: prasit.koo@pea.co.th
หมายเลขโทรศัพท์ 02-5905314
ที่อยู่ของหน่วยงาน 200 ถ.งามวงศ์วาน จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 จังหวัดกรุงเทพมหานคร
หรือค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://tor.gprocurement.go.th/06_torview/view_tor.php?id=62384

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

จากราคาน้ำมันที่แนวโน้มสูงขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2550 ถึงกลางปี 2551 ทำให้มีหลายหน่วยงานถามถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงกันมาก (ไม่แพ้กับหลายๆ คนที่แห่เอารถยนต์ไปติดเครื่องแก๊สกันครับ) ในแง่ของราคาเท่าที่ทราบ ราคาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจะแพงกว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซล 2-3 เท่า เนื่องจากเทคโนโลยีของเครื่องแก๊ส ค่อนข้างจะใหม่ในประเทศไทย เท่าที่ทราบก็มี บจก.เมโทรแมชีนเนอรี่ ที่เคยติดตั้งให้กับโครงการบ่อขยะราชาเทวะ (เนื่องจากบ่อขยะได้แก๊สมาฟรีจากการหมักขยะ) และบางหน่วยงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ฟาร์มหมู นำเอาขี้หมูมาทำแก๊ส) มาแล้ว ในส่วนของแง่ทางเทคนิคนั้นต้องลงลึกละเอียดถึงขนาดว่าปริมาณแก๊สที่ได้มานั้นมีสัดส่วนของกำมะถัน คาร์บอน ฯลฯ ประมาณเท่าไหร่แล้วจึงจะนำค่าต่างๆ มาปรับแต่งเครื่องเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานอีกทีครับ

Wednesday, November 12, 2008

สถานที่ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Diesel Generator Set) จัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงงาน ฟาร์มไก่ (ระบบ Evap) รีสอร์ท อาคารสูง เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้หากไฟดับเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก ดังนั้นการมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับสำรองในขณะที่ไฟดับ จะช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ลดความเสี่ยงจากความเสียหายอันเนื่องมาจากไฟดับได้มากครับ

Tuesday, November 11, 2008

ที่อยู่ของ บจก.คัมมิ่นส์ ดีทแฮล์ม (ผู้จำหน่าย gen Cummins)

1696 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ
เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
โทร. 02-652-8510-9
แฟกซ์ 02-652-7635-6

Monday, November 10, 2008

การ sync gen ตอน 1

ปกติแล้วระบบ sync จะเป็นระบบที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน และมีราคาแพง โดยทั่วไปถ้าโหลดมาจาก 2 feeder 2 หม้อแปลง ควรจะแยกใช้ Gen 2 เครื่อง แยกกันจ่าย (โหลด emer แต่ละส่วนไม่มาเกี่ยวข้องกัน) อันนี้จะง่ายและประหยัดที่สุด แต่ในกรณีที่โหลดมาจาก feeder เดียว ผมก็ยังแนะนำว่าควรใช้ gen 1000 kVA เพียงตัวเดียวจ่ายโหลดเนื่องจากระบบไม่ซับซ้อน และราคาประหยัดกว่าใช้ gen 500kVA 2 เครื่อง Sync กัน เพราะถ้ามีระบบ sync เข้ามา ราคาตู้ sync ก็ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทแล้ว (เพราะฉะนั้นมักจะไม่เห็นเอาเครื่อง gen ขนาดเล็กมา sync กัน) เพราะเผลอ ๆ ราคาตู้ sync ใบเดียวยังแพงกว่าราคา gen อีกครับ

การทำห้องเก็บเสียงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตอน 2

โดยปกติสเปคมาตรฐานทั่วไปจะกำหนดระดับความดังของเสียงต้องไม่เกิน 85 dBA ที่ระยะ 1 เมตร เมื่อวัดจากผนังห้องด้านนอก แต่บางครั้งก็เคยเจอสเปคบางงานเหมือนกันครับ ที่ต้องการให้ระดับความดังของเสียงไม่เกิน 60 dBA ที่ระยะ 1 เมตร ซึ่งมันค่อนข้างจะเงียบมากเลยครับ เพราะปกติเสียงคนเราคุยกันก็จะดังอยู่ประมาณ 60-70 dBA แล้ว ยิ่งเอาไปใช้บนเกาะที่มีเสียงลม (บางทีระดับความดังเกิน 60 dBA) อีกครับ ซึ่งจะวัดยังไงก็เกิน 60 dBA อันเนื่องมาจาก Background noise (เสียงจากสิ่งแวดล้อม) ดังนั้นส่วนมากแล้วจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ เพราะการทำห้องเก็บเสียงให้ได้ 60 dBA ค่าใช้จ่ายจะแพงกว่า 85 dBA 2-3 เท่าเลยหล่ะครับ ดังนั้นผมแนะนำว่าเอาตามมาตรฐาน 85 dBA ก็น่าจะเพียงพอ หรือถ้าซีเรียสจริงๆ ก็สัก 75dBA ก็เหลือเฟือแล้วหล่ะครับ

Sunday, November 9, 2008

การทำห้องเก็บเสียงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตอน 1

โดยทั่วไปเครื่องกำเนิดไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ติดตั้งมักจะไม่ทำระบบเก็บเสียง เพราะค่าใช้จ่ายในการทำระบบเก็บเสียงค่อนข้างสูง แต่บ่อยครั้งครับที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้านำไปติดตั้งในสถานที่ที่จำเป็นต้องควบคุมระดับความดังของเสียง เช่น โรงพยาบาล, ที่พักอาศัย เป็นต้น ในเบื้องต้นหลักการพิจารณาว่าควรทำห้องเก็บเสียงหรือไม่ควรพิจารณาจากบริเวณห้องที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าติดตั้งว่าแวดล้อมไปด้วยอะไร ถ้าข้างๆห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นออฟฟิศที่ทำงาน หรือใกล้กับคนพักอาศัย ก็ควรจะทำระบบเก็บเสียง แต่ถ้าข้างๆห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นที่ติดตั้งเครื่องจักรอื่น ๆ หรืออยู่ใกล้กับถนนที่มีรถวิ่งพลุกพล่านตลอดเวลา ก็ไม่ควรทำครับ เพราะทำไปก็เสียเงินเปล่า เพราะข้าง ๆ เค้าดังอยู่แล้วครับ

ปกติถ้าซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใหม่ คนขายจะเติมน้ำมันให้มั้ย

ปกติถ้าคุณซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า คนขายจะเติมน้ำมันให้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการซื้อขายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่ตกลงกันไว้ตอนแรก แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ขายมักจะเสนอเติมน้ำมันให้ 25% ของความจุของถัง หรือไม่ก็เติมให้เต็มถัง (กรณีในสเปคระบุให้เติมเต็มถัง) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรจะตกลงกันไว้แต่แรกเพื่อป้องกันการโต้เถียงในภายหลังครับ

Thursday, November 6, 2008

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยการ Shock Load

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยการ shock load เพื่อเป็นการแสดงถึงความสามารถและความอึด (Heavy Duty) ของเครื่องยนต์ต้นกำลัง เพราะในขณะที่ใส่โหลดทันทีทันใด 100% เข้าไปนั้น จะทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ารอบตก และต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง (recovery time) ในการทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถกลับมาทำงานในลักษณะปกติ วิธีการทดสอบทำได้โดยการเซ็ทค่าโหลดที่ 100% หลังจากก็ off เซอร์กิตเบรคเกอร์ โดยที่ค่าโหลดที่เซ็ทไว้ยังคงเดิม แล้วทำการ On เซอร์กิตเบรคเกอร์ขึ้นไป ซึ่งในตลาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นเห็นมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า Cummins Power Generation เพียงยี่ห้อเดียวที่รับประกันว่าสามารถทดสอบ shock load 100% ได้ทุกรุ่น เพราะมั่นใจถึงความแข็งแรงของเครื่องยนต์ สำหรับยี่ห้ออื่นนั้นอาจทดสอบได้เป็นเพียงบางรุ่น หรือบางยี่ห้อ ต้องนำเอาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดที่ใหญ่กว่าเพื่อนำเสนอให้ผ่านคุณสมบัติข้อนี้ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า การทดสอบเครื่องด้วยการ shock load นั้น จะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอมาก

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยโหลดเทียม ตอน 2

จากตอนที่แล้วเราพอทราบถึงการทดสอบโหลดเทียม (Dummy Load Test) ไปแล้ว ในความเห็นของผมถ้าท่านซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า Cummins จาก บจก.คัมมิ่นส์ ดีทแฮล์ม หรือ Caterpillar จาก บจก.เมโทรแมชีนเนอรี่ ท่านไม่มีความจำเป็นต้องทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยโหลดเทียม (Dummy Load Test) เนื่องจากสินค้าจากบริษัทเหล่านี้ เป็นสินค้าที่ประกอบสำเร็จรูปมาจากโรงงานที่ต่างประเทศ มีการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาจากโรงงานแล้ว อีกทั้งเป็นบริษัทที่มั่นคง ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามานานไม่ต่ำกว่า 20 ปี และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากทั้งสองบริษัทนี้ก็มีการรับประกันอยู่แล้ว ดังนั้นหากเกิดปัญหาในระหว่างการรับประกันท่านก็สามารถให้ทางบริษัทเข้ามาดูแลท่านได้

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยโหลดเทียม (Dummy Load) ตอน 1

โดยปกติโหลดเทียม (Dummy Load) ที่นิยมใช้สำหรับทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยทั่วไปจะเป็น โหลดน้ำเกลือ หรือโหลด Heater โดยสมัยก่อนจะใช้โหลดน้ำเกลือกันเยอะ แต่ค่อนข้างจะยุ่งยากในการที่ต้องเตรียมสภาวะโหลด โดยต้องเติมน้ำและเกลือลงไปเป็นระยะๆ เพื่อรักษาระดับ power factor ให้ไกล้เคียง 1 แต่ในปัจจุบัน ผู้ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามักจะทดสอบด้วยโหลดฮีทเตอร์ Heater ซึ่งค่อนข้างสะดวกกว่ามาก (แต่ผู้ขายต้องลงทุนซื้อโหลด Heater หรือไม่ก็ต้องไปเช่ามา) โดยการทดสอบโหลดเทียม (Dummy Load Test) ที่ผู้ขายโดยทั่วไปเสนอจะเป็นการทดสอบที่โรงงานของผู้ขายเอง มากกว่าที่จะทดสอบที่หน่วยงานของผู้ซื้อ เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ที่โรงงานจะพร้อมกว่าสะดวกกว่า สำหรับการทดสอบที่หน่วยงานของผู้ซื้อนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูงในการขนย้ายโหลดเทียม (Dummy Load) ไปยังหน่วยงาน ค่าแรงช่าง ค่าเช่าสายไฟ (ในกรณีที่สถานที่วางโหลดเทียมอยู่ห่างจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) เป็นต้น

พิกัดต้นกำลัง (Prime) กับสำรองฉุกเฉิน (Standby) ต่างกันอย่างไร

คำถามนี้เจอบ่อยมาก ผมยกตัวอย่างของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยทั่วไปที่แต่ละยี่ห้อจำหน่ายจะระบุพิกัดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังนี้

เช่น รุ่น C18 ของ Caterpillar ขนาด 550 เควีเอ 440 กิโลวัตต์ พิกัดแบบสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) หรือ 500 เควีเอ 400 กิโลวัตต์ พิกัดแบบต้นกำลัง (Prime Rating)
และ3456 ของ Caterpillar ขนาด 500 เควีเอ 400 กิโลวัตต์ พิกัดแบบสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) หรือ 455 เควีเอ 364 กิโลวัตต์ พิกัดแบบต้นกำลัง (Prime Rating)

จะสังเกตเห็นว่าพิกัดต้นกำลัง (Prime Rating) กับสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) ค่าเควีเอจะต่างกันอยู่ 10% คล้าย ๆ เป็นการเผื่อไว้ เนื่องจากเครื่องที่ใช้งานแบบต้นกำลัง (Prime) จะค่อนข้างทำงานหนักกว่าสำรองฉุกเฉิน (Standby) ดังนั้นจึงลดค่าพิกัดการเดินให้ต่ำลง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพิกัดสำรองฉุกเฉินกับพิกัดต้นกำลัง

โดยทั่วไปเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบ่งพิกัดตามการใช้งาน ดังนี้
1. พิกัดแบบสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) ใช้สำหรับหน่วยงานที่มีไฟหลวงใช้งานอยู่แล้ว และต้องการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองในขณะที่ไฟดับ เช่น ฟาร์ม, โรงงาน, โรงพยาบาล, ศูนย์การค้า, อาคารสูง เป็นต้น ซึ่งโหลดอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ และควรเดินที่โหลดเฉลี่ยประมาณ 70%
2. พิกัดแบบต้นกำลัง (Prime Rating) โดยทั่วไปจะถูกนำไปใช้ในสถานที่ที่ไฟหลวงยังเข้าไม่ถึง ใช้เดินเครื่องตลอดเวลา ซึ่งโหลดอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ และควรเดินที่โหลดเฉลี่ยประมาณ 70%
3. พิกัดต่อเนื่อง (Continuous Rating) โดยทั่วไปจะใช้น้อยเนื่องจากพิกัดดังกล่าวใช้สำหรับโรงไฟฟ้า (Power Plant) ที่เดินจ่ายโหลดคงที่ต่อเนื่อง

ดังนั้นควรเลือกพิกัดกำลังให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานนะครับ

Wednesday, November 5, 2008

ขนาดที่เหมาะสมของห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

บ่อยครั้งครับที่เวลาออกแบบตึกหรืออาคารในตอนแรก จะลืมเตรียมพื้นที่สำหรับห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเอาไว้ ทำให้ต้องมาหาพื้นที่สำหรับวางเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทีหลัง ซึ่งขนาดของห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เหมาะสมนั้น ก็เกี่ยวโยงกับความสะดวกในการบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยทั่วไปควรมีพื้นที่ว่างทั้งด้านข้างและด้านหลังเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประมาณ 1 เมตร (ยิ่งมีพื้นที่มากยิ่งดีครับ) เพื่อสะดวกในการ Service ภายหลัง แต่หากพื้นที่ไม่มีจริงๆ ก็ควรมีพื้นที่ว่างด้านข้างและด้านหลังอย่างน้อยที่สุด 50 เซนติเมตร เพื่อให้คนสามารถเดินรอบเครื่องได้ครับ

การออกแบบแท่นคอนกรีตสำหรับวางเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

แท่นคอนกรีตสำหรับวางเครื่องกำเนิดไฟฟ้าควรมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างน้อยที่สุดด้านละ 10 เซนติเมตร เช่น ถ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร แท่นคอนกรีตควรจะมีขนาดกว้างอย่างน้อยที่สุด 120 เซนติเมตร ยาว 220 เซนติเมตร เป็นต้น ถ้าใหญ่กว่าด้านละ 30 เซนติเมตรจะดีมาก เพราะขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าไปบำรุงรักษา จะสามารถยืนวางเท้าข้างเครื่องได้อย่างสะดวก