Thursday, June 18, 2009

การขนส่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า บางครั้งก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด

เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่ามองข้ามครับ เพราะบางทีการขนส่งก็ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน

เคยมีผู้รับเหมามาโอดครวญเข้าเนื้อเพราะตอนเสนอราคาเอางานตอนแรกก็เสนอราคาปกติ เป่า ๆ ราคาไปก่อน และเศรษฐกิจอย่างนี้ก็ต้องทุบราคาแย่งงานกันอุตลุต ไม่ได้เช็คราคากับผู้ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก่อน ผลสุดท้ายพอจะสั่งซื้อจริงๆ งบบานปลายเรื่องค่าขนส่งครับ คงสงสัยกันใช่มั้ยครับว่างบจะบานปลายได้อย่างไร
ผมขอชี้แจงดังนี้ครับ

1. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องยกขึ้นชั้นสูงของอาคาร (อันนี้งบจะบานครับเพราะต้องหาเครนมา เพราะต้องพิจารณาถึงน้ำหนักของเครื่อง ตำแหน่งการยืนของเครน ระยะบูมของเครน เพราะถ้าน้ำหนักของเครื่องมาก ตำแหน่งการยืนอยู่ห่างจากตัวอาคารซึ่งต้องยิงบูมไกลด้วยแล้ว ยิ่งต้องเครนหลายตัน ซึ่งราคาการเช่าเครนคิดเป็นรายวัน เช่น เครน 20 ตัน เช่ามายกก็ประมาณวันละสองหมื่นถึงสามหมื่นบาท และบางครั้งถ้าต้องยกในกรุงเทพฯ ซึ่งการจราจรพลุกพล่านด้วยแล้ว ก็ต้องยกกันในเวลากลางคืน ต้องปิดถนน (ทำให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับการอำนวยความสะดวกทางจราจร) เป็นต้น) หรือบางท่านใช้วิธีลากเครื่องผ่านทางลาดต้องระวังเรื่องการรับน้ำหนักของพื้นแต่ละชั้นด้วย ถ้าพื้นรับไม่ได้ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการตั้งเสาค้ำยันแต่ละชั้น

2. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องลากลงชั้นใต้ดินของอาคาร (อันนี้ต้องอาศัยทีมงานที่มีฝีมือครับ ถ้าฝีมือไม่ดีทำให้เครื่องกระแทก เครื่องก็อาจได้รับความเสียหายได้
หรือบางครั้งลากลงชั้นจอดรถใต้ดิน โดยลากลงผ่านทางลาด (ramp) ซึ่งเป็นทางวนเหมือนทางขึ้นที่จอดรถ อันนี้ก็ยากครับ บางทีใช้เวลากันเป็นวัน ๆ และต้องปิดการจราจรด้วย) และเรื่องการรับน้ำหนักของพื้นเช่นเดียวกับข้อข้างบน

3. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องลากผ่านสนามหญ้าสวยงามอันเป็นที่หวงแหนของท่านเจ้าของโครงการ (อันนี้ นานาจิตตังครับ เหนื่อย เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในการหาอุปกรณ์มาป้องกันสนามหญ้า หรือถ้ามันพังไปแล้วก็จะมีค่าใช้จ่ายในการปูหญ้าใหม่ครับ หรือเจ้าของบางท่านไม่ยอมเด็ดขาดอย่ามาทำอะไรกับสนามหญ้าอันหวงแหนของข้าพเจ้า ก็ลำบากต้องจ้างเครนยกข้ามสนามหญ้าหล่ะครับงานนี้)

4. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่กว่าช่องทางที่จะนำเข้า (ยุ่งเหมือนกันครับ ถ้าแบบง่าย ๆ ก็ทุบขยายช่องครับ แต่บางทีทุบไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีการแยกชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออก เป็นเครื่องยนต์, ชุดกำเนิดไฟฟ้า, หม้อน้ำ เป็นต้น แล้วก็ไปประกอบกันอีกที บางงานเจอว่าต้องเอาเครื่องไว้ขึ้นบนอาคาร และไม่มีทางที่จะนำเครื่องเข้าได้เลย ต้องอาศัยลิฟต์ ซึ่งประตูเข้าลิฟต์ก็แคบ ต้องใช้วิธีแยกชิ้นส่วนดังกล่าว ยังเคราะห์ดีครับที่ลิฟต์ยังสามารถรับน้ำหนักชิ้นส่วนที่แยกแต่ละชิ้นได้ ถ้าลิฟต์รับน้ำหนักไม่ได้ ก็ตัวใครตัวมันหล่ะครับ)

5. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องขนส่งข้ามเกาะ (เช่น เกาะบางเกาะไม่มีเรือเฟอร์รี่ที่สามารถรับน้ำหนักของรถบรรทุกที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าบรรทุกมาด้วยได้ ก็ต้องอาศัยใช้เครนยกเครื่องลงเรือ พอไปถึงเกาะคราวนี้ปวดหัวอีกจะเอาขึ้นเกาะยังไง เพราะไม่มีท่าเทียบเรือ และยิ่งบนเกาะไม่มีเครนด้วยหล่ะ จุกหล่ะครับงานนี้ อีกตัวอย่างคือพายุเข้าครับ สมมตินัดจะส่งเครื่องวันที่ 16 พอรถบรรทุกวิ่งไปถึงท่าเรือ ปรากฏว่าพายุเข้าครับ ต้องรอพายุไปก่อน แล้วก็ไม่รู้มันจะไปเมื่อไหร่ นี่เสียค่าเช่ารถบรรทุกเป็นรายวันแล้วครับ (ไม่รู้กี่วันอีกต่างหาก เผลอๆต้องขนเครื่องกลับไปก่อน) และต้องจองเรือกันด้วยบางเกาะเรือที่จะบรรทุกได้ก็มีน้อยเต็มทีต้องรอคิว กว่าคิวจะว่างก็เจอปัญหาต้องรอน้ำขึ้นน้ำลงอีก นี่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งทำให้งานล่าช้า พองานเสร็จไม่ทันโดนปรับตามมาอีกครับ ซวยหลายเด้งเลยงานนี้)

6. ข้อนี้ซวยน้อยหน่อยครับ ขนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปถึงหน่วยงานปรากฏว่าคืนก่อนหน้าฝนตกหนัก พื้นเละเข้าหน่วยงานไม่ได้ เพราะขืนดึงดันวิ่งเข้าไปติดหล่มแน่ ต้องเดือดร้อนเอารถมาช่วยลากกันหล่ะครับ เคราะห์หามยามซวยเครื่องจะตกลงมาซะอีก บางท่านก็ใช้วิธีให้ขนกลับไปก่อนพอพื้นแน่นก็ให้ขนมาใหม่ครับ

เพราะฉะนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยครับเกี่ยวกับสถานที่ที่จะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าครับ

ถังน้ำมันใต้แท่นกับถังน้ำมันแยกต่างกันอย่างไร

ในปัจจุบันบริษัทฯที่ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะทำถังน้ำมันเชื้อเพลิงใต้แท่นเครื่องสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็ก เพราะสะดวกต่อการใช้งาน ประหยัดพื้นที่ ไม่ต้องเดินท่อน้ำมันให้เกะกะ เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า Caterpillar ขนาดเล็กกว่า 500 เควีเอ พิกัดสำรองฉุกเฉิน (Standby rating) จะออกแบบเป็นถังน้ำมันใต้แท่นเครื่องมาจากโรงงาน เช่นเดียวกับ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าของ Cummins ที่ปัจจุบัน ก็จะออกแบบเป็นถังน้ำมันใต้แท่นเครื่องมาจากโรงงานเช่นเดียวกัน

และสำหรับถังน้ำมันแยกนั้นมักจะใช้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ เนื่องจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันจะสูง เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 1000 เควีเอ พิกัดสำรองฉุกเฉิน (Standby rating) ถ้าเดินที่ 100% load จะใช้น้ำมัน 200 ลิตร ต่อชั่วโมง (ตามบทความที่เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้) และถ้าต้องการให้สามารถใช้งานได้ 8 ชั่วโมง ก็ต้องมีถังน้ำมันขนาด 1600 ลิตร ซึ่งถ้าเอาถังน้ำมันไว้ใต้แท่นเครื่องจะทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีขนาดความสูงเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อการสั่นสะเทือนของเครื่องได้ (ตามบทความก่อนหน้านี้) เนื่องจากปริมาณน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงมาก ทำให้น้ำหนักของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารวมเปลี่ยนแปลงมาก ซึ่งจะทำให้หาสปริงรองแท่นเครื่องที่เหมาะสมกับน้ำหนักที่มีช่วงการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ทำได้ยาก

สำหรับในเรื่องของความปลอดภัยซึ่งบางท่านอาจจะกลัวว่ามีถังน้ำมันอยู่ใต้แท่นเครื่องจะอันตรายหรือเปล่า ความคิดเห็นของผมฟันธงได้เลยครับว่าถ้าจะอันตรายมันก็ไม่แตกต่างจากถังน้ำมันแยกหรอกครับ อย่ากลัวโดยใช่เหตุ เหตุผลที่ผมกล้าฟันธงมีดังนี้

1. ถังน้ำมันใต้แท่นเครื่องนั้นออกแบบมาจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรงย่อมรับประกันได้ว่าระดับยี่ห้อดัง ๆ อย่าง Caterpillar หรือ Cummins ต้องไม่ออกแบบให้เสียชื่ออย่างแน่นอน และก่อนผลิตออกมาวิศวกรต้องมีคำนวณและออกแบบมาเป็นอย่างดีแล้ว
2. ถังน้ำมันแยกก็ต้องต่อท่อน้ำมันมาเข้าเครื่องเหมือนกัน ในกรณีที่เกิดไฟไหม้ ไฟก็ลามมาที่เครื่องได้ไม่ต่างกับถังน้ำมันอยู่ใต้แท่นเครื่อง
3. ขนาดรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ถังน้ำมันอยู่ในตัวรถวิ่งไปวิ่งมา ยังไม่เห็นจะกลัวกันเลย ยิ่งรถยนต์ใช้น้ำมันเบนซินด้วยแล้วก็ยังวิ่งกันออกถม ดังนั้นจะกลัวอะไรกับถังน้ำมันใต้แท่นหล่ะครับ

แต่ที่น่าแปลกมีบุคคลอยู่ 2 ประเภทครับที่น่าปวดหัว พวกจะใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องเล็กแต่อยากได้ถังน้ำมันแยก (เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย) กับอีกพวกคือจะใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องใหญ่แต่กลับอยากได้ถังน้ำมันใต้แท่นเครื่อง (เพราะไม่อยากมีท่อน้ำมันเกะกะ) เออ เอาเข้าไป แต่อยากอะไรก็อยากได้ ขอให้มีตังจ่ายอย่างเดียว พวกลูกจ้างอย่างผมก็จัดหาให้ได้ทุกอย่างอยู่แล้น

Wednesday, June 17, 2009

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สอบราคาซื้อ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเคลื่อนที่ ขนาดไม่น้อยกว่า 5 kVA. จำนวน 4 เครื่อง

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มีความประสงค์จะสอบราคาซื้อ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเคลื่อนที่ ขนาดไม่น้อยกว่า 5 kVA. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 4 เครื่อง เพื่อใช้งาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ผู้มีสิทธิเสนอราคาจะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้มีอาชีพขายพัสดุที่สอบราคาซื้อดังกล่าว
2. ไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของทางราชการและได้แจ้งเวียนชื่อแล้ว
3. ไม่เป็นผู้ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกัน ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทยเว้นแต่รัฐบาลของผู้เสนอราคาได้มีคำสั่งให้สละสิทธิ์ความคุ้มกันนั้น
4. ไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้เสนอราคารายอื่นที่เข้าเสนอราคาให้แก่ ด้วย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ณ วันประกาศสอบราคาซื้อ หรือไม่เป็นผู้กระทำการอันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในการสอบราคาซื้อครั้งนี้

กำหนดยื่นสอบราคาในวันที่ 22 มิถุนายน 2552 ถึง 2 กรกฎาคม 2552 ระหว่างเวลา 08.00 น. ถึง 16.30 น. ณ ส่วนจัดซื้อ ฝ่ายอำนวยการ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อาคาร AOB) ชั้น 6 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และกำหนดเปิดซองใบเสนอราคาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2552 เวลา 10.00 น.

ผู้สนใจติดต่อขอรับ/ซื้อเอกสารสอบราคาซื้อ ในราคาชุดละ 100.- บาท ได้ที่ ส่วนจัดซื้อ ฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อาคาร AOB) ชั้น 6 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน 2552 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.airportthai.co.th หรือสอบถามทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2132-5412 ในวันและเวลาราชการ

Tuesday, June 16, 2009

บริการปรึกษาทุกปัญหาเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

บริการรับปรึกษาทุกปัญหาเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
1. การเลือกเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
2. ราคาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
3. สวิตซ์สลับทางไฟฟ้าอัตโนมัติ
4. การทำห้องเก็บเสียง
5. การทำตู้ครอบเก็บเสียง
6. การติดตั้ง, รื้อถอน และขนย้ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
7. การบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
8. ซ่อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
Email : generatorthailand@yahoo.com
webmaster พร้อมจะตอบคำถามทุก ๆ 4 ชั่วโมง บริการตอบคำถามฟรี

การบำรุงรักษาแบตเตอรี่ ตอน 2

3. การทำความสะอาดแบตเตอรี่ ความชื้นที่ด้านบนของแบตเตอรี่จะสะสมฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก ถ้าไม่ทำความสะอาดตามระยะเวลา ฝุ่นผงเหล่านี้จะทำให้แบตเตอรี่ดิสชาร์จผ่านด้านบนของแบตเตอรี่ช้า ๆ วิธีที่ดีในการทำความสะอาดด้านบนของแบตเตอรี่ ให้ใช้โซดาเทลงรอบ ๆ ด้านบนแบตเตอรี่ ทิ้งไว้สักครู่ให้ฟองที่เกิดขึ้นหมดไป แล้วใช้น้ำสะอาดล้างอีกทีหนึ่ง จะลดลงตามลำดับเพื่อจำกัดตัวกัดกร่อนนี้ และให้เกิดการต่อกันที่ดี

4. การชาร์จแบตเตอรี่ เมื่อพบว่าแบตเตอรี่ไฟหมดจะต้องนำไปชาร์จ ซึ่งการชาร์จมี 2 ชนิดคือ การชาร์จอย่างช้า ๆ และชาร์จอย่างเร็ว การชาร์จอย่างเร็วไม่สามารถทำให้แบตเตอรี่ได้รับประจุเต็มได้ ถ้าต้องการให้ได้รับประจุเต็มต้องชาร์จต่ออีก โดยชาร์จอย่างช้า ๆ ขณะชาร์จควรระมัดระวังประกายไฟในขณะที่ปลดสายคืบแบตเตอรี่ เนื่องจากขณะชาร์จจะเกิดก๊าซออกซิเจนและไฮโดรเจน ซึ่งเมื่อก๊าซดังกล่าวได้รับประกายไฟอาจระเบิดได้ น้ำยาในแบตเตอรี่อย่าให้ถูกผิวหนัง หากถูกน้ำยาควรรีบล้างน้ำทันที

การบำรุงรักษาแบตเตอรี่ ตอน 1

อายุการใช้งานของแบตเตอรี่จะสั้นหรือยาวนั้นขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งการบำรุงรักษามีดังนี้
1. การเติมน้ำยา แบตเตอรี่ใหม่ เมื่อจะนำมาใช้ จะต้องเติมน้ำยา (electrolyte) โดยน้ำยาที่ใช้ในแบตเตอรี่เป็นส่วนผสมของกรดกำมะถัน (H2SO4) กับน้ำ (H2O) ซึ่งผสมกันด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้น้ำยาที่มีความถ่วงจำเพาะถูกต้อง การผสมกรดกำมะถันกับน้ำ จะต้องเทกรดลงในน้ำช้า ๆ แล้วใช้ไม้สะอาดกวนให้ส่วนผสมเข้ากันตลอดเวลาที่เทกรดลงในน้ำ ห้ามเทน้ำลงในกรดเป็นอันขาด การเติมน้ำยานี้จะเติมลงในแบตเตอรี่ใหม่ครั้งแรกเท่านั้นและเมื่อแบตเตอรี่ถูกนำไปใช้งานแล้ว จะไม่มีการเติมน้ำยาในระหว่างการใช้งานอีก แต่จะต้องเติมน้ำกลั่นในระหว่างการใช้งานแทนเพื่อรักษาระดับของน้ำยาในช่องเซลล์ของแบตเตอรี่แต่ละช่อง

2. การเติมน้ำกลั่น เป็นสิ่งจำเป็นในการบำรุงรักษาแบตเตอรี่ ซึ่งต้องเติมตามระยะเวลา เพื่อป้องกันระดับน้ำยาตกต่ำกว่าด้านบนของแผ่นธาตุและแผ่นกั้น เพราะถ้าปล่อยให้ต่ำกว่าระดับ จะทำให้แผ่นกั้นและแผ่นธาตุบางส่วนถูกกับอากาศทำให้ชำรุดเสียหายได้ จึงต้องเติมน้ำกลั่นตามระยะเวลาเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปจากแบตเตอรี่ ในระหว่างการเกิดปฏิกิริยา ระดับน้ำยาโดยปกติจะต้องอยู่เหนือแผ่นธาตุประมาณ 0.25-0.5 นิ้ว การเติมน้ำกลั่นมากเกินไป จะทำให้น้ำยากระฉอกออกมาและสูญเสียไป น้ำยาที่สูญเสียไป นอกจากความจุของแบตเตอรี่จะสูญเสียไปแล้ว ยังทำให้เกิดการกัดกร่อนโลหะหรือสิ่งอื่น ๆ ที่สัมผัสกับมัน โดยเฉพาะเครื่องยึดแบตเตอรี่ และสายเคเบิลจะเสียหายมาก

Monday, June 15, 2009

แบตเตอรี่นิเกิลแคดเมียม (Ni-Cd) กับน้ำกรด (Lead-acid)

เคยเป็นประเด็นถกเถียงกันครับเกี่ยวกับเรื่องของแบตเตอรี่สำหรับใช้ในการสตาร์ทเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (generator set) เนื่องจากในสเปคระบุให้ใช้แบตเตอรี่นิเกิลแคดเมียม (Ni-Cd) แต่ผู้ขายยืนยันจัดแบตเตอรี่แบบน้ำกรด (Lead-Acid) ให้ โดยให้เหตุผลว่าแบตเตอรี่นิเกิลแคดเมียมราคาจะสูงมาก (ประมาณหลักแสนขึ้นน่าจะมากกว่าสองแสน) ซึ่งเกินความจำเป็นอีกทั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็ใช้สำหรับการสำรองช่วงไฟดับเท่านั้น พิจารณาจากเหตุผลแล้วมันก็เกินไปจริงๆ ที่ซื้อแบตเตอรี่ลูกเป็นแสน ราคาเผลอๆ มากกว่า 10% ขอค่าเครื่องเสียอีก เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ธรรมดา (lead-acid) ซึ่งลูกละหมื่นกว่าบาทเท่านั้นเอง (เอาเงินซื้อแบตนิเกิลแคดเมียมมาเปลี่ยนซื้อแบตธรรมดาได้เกือบ 20 เที่ยว อายุการใช้งานแบตธรรมดา ให้อย่างน้อย 1 ปี ก็ใช้ได้ร่วม 20 ปีแล้ว) คุ้มกว่าตั้งแยะ

Sunday, June 14, 2009

จังหวัดชุมพร สอบราคาซื้อ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 300 กิโลวัตต์

จังหวัดชุมพร มีความประสงค์จะสอบราคาซื้อ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 300 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง วงเงิน 1,500,000บาท
สำหรับโรงพยาบาลสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร

ผู้มีสิทธิเสนอราคาจะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้มีอาชีพขายพัสดุที่สอบราคาซื้อดังกล่าว
2. ไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของทางราชการและได้แจ้งเวียนชื่อแล้ว
3. ไม่เป็นผู้ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกัน ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทยเว้นแต่รัฐบาลของผู้เสนอราคาได้มีคำสั่งให้สละสิทธิ์ความคุ้มกันนั้น
4. ไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้เสนอราคารายอื่นที่เข้าเสนอราคาให้แก่ ชุมพร ณ วันประกาศสอบราคาซื้อ หรือไม่เป็นผู้กระทำการอันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในการสอบราคาซื้อครั้งนี้

กำหนดยื่นสอบราคาในวันที่ 24 มิถุนายน 2552 ถึง 24 มิถุนายน 2552 ระหว่างเวลา 08.30น. น. ถึง 16.00น. น. ณ ฝ่ายบริหารทั่วไป โรงพยาบาลสวี และกำหนดเปิดซองใบเสนอราคาในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 เวลา 10.30น.เป็นต้นไป น.

ผู้สนใจติดต่อขอรับ/ซื้อเอกสารสอบราคาซื้อ ในราคาชุดละ - บาท ได้ที่ ฝ่ายบริหารทั่วไป โรงพยาบาลสวี ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน 2552 ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2552 หรือสอบถามทางโทรศัพท์หมายเลข 0-7753-1206 ต่อ 102 ในวันและเวลาราชการ