Thursday, January 8, 2009

อัตราส่วนแรงม้าต่อกิโลวัตต์ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตอน 1

เคยเห็นสเปคของบางที่ระบุว่าอัตราส่วนของแรงม้าต่อกิโลวัตต์ต้องไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า ซึ่งในความเป็นจริงอัตราส่วนนี้ไม่ใช่สาระสำคัญในการเลือกซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เนื่องจากส่วนที่ต้องพิจารณาที่สำคัญที่สุดคือจำนวน เควีเอ (kVA) ที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถจ่ายได้มากกว่า สมมติว่ามีเครื่องกำเนิดไฟฟ้ายี่ห้อ A กับยี่ห้อ B, ถ้ายี่ห้อ A ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบุว่าเป็นขนาด 1000 เควีเอ 800กิโลวัตต์ โดยเครื่องยนต์มีขนาด 1250 แรงม้า (อัตราส่วนแรงม้าต่อกิโลวัตต์ = 1250/800 = 1.56) แต่ในขณะที่ยี่ห้อ B ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบุว่าเป็นขนาด 1050 เควีเอ 840 กิโลวัตต์ โดยเครื่องยนต์มีขนาด 1150 แรงม้า (อัตราส่วนแรงม้าต่อกิโลวัตต์เท่ากับ 1235/840 = 1.47 ) ซึ่งหากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งสองยี่ห้อมีราคาที่เท่ากัน ความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ เหมือนกันแล้ว ผมเลือกใช้ยี่ห้อ B ครับ เพราะว่าคุณได้จำนวนเควีเอที่มากกว่านั่นหมายความว่าคุณสามารถจ่ายโหลดได้มากกว่านั่นเอง ดังนั้นกล่าวโดยสรุปอัตราส่วนของแรงม้าต่อกิโลวัตต์, หรือแรงม้าของเครื่องไม่ใช่ข้อมูลที่สำคัญในการเลือกซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ข้อมูลที่สำคัญที่สุดคือจำนวนเควีเอที่คุณได้จากตัวเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามากกว่าครับ

Wednesday, January 7, 2009

ปกติบานเกล็ดด้านลมเข้า ผู้ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องทำให้?

โดยปกติทั่วไปแล้วเวลาผู้ขายเสนอขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะไม่ได้เสนอรวมบานเกล็ดด้านลมเข้า อันเนื่องมาจากบ่อยครั้งเลยครับที่ผู้ซื้อจะทำผนังของห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นอิฐบล็อกโปร่ง (ชนิดที่ลมเข้าได้แต่ฝนสาดไม่ได้) เพื่อเป็นช่องทางให้ลมผ่านเข้ามาระบายความร้อนให้กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่ในกรณีของการทำห้องเก็บเสียงหากให้ผู้ขายเสนอราคารวมระบบเก็บเสียง ผู้ขายจะเสนอรวมทั้งบานเกล็ดด้านลมเข้าและลมออกรวมทั้งชุดเก็บเสียงด้านลมเข้าและลมออกมาด้วย
ดังนั้นคงพอเข้าใจกันเบื้องต้นแล้วนะครับว่าขอบเขตของบานเกล็ดด้านลมเข้าควรจะเป็นอย่างไร (แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับขั้นตอนการเจรจากันในระหว่างการซื้อขายด้วยครับ)