Saturday, June 6, 2009

โครงการศึกษาปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (POWER FACTOR) ของผู้ใช้ไฟฟ้า

การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภครับผิดชอบในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าอย่างมีคุณภาพ และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ในการจำหน่ายกระแสไฟฟ้านั้น กฟน.ได้ตะหนักถึงความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า คุณภาพและการบริการ การประหยัดพลังงาน และส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อการประหยัดพลังงานของประเทศ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน รวมถึงผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจังเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ในที่สุด

อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆล้วนต้องการพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้สามารถใช้งานได้ ซึ่งพลังงานไฟฟ้าจะถูกส่งมาจากแหล่งผลิตไฟฟ้าเป็นระยะทางไกลๆ โดยผ่านการแปลงแรงดันจากหม้อแปลงไฟฟ้าหลายครั้งกว่าจะมาถึงผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายได้ ประสิทธิภาพหรือคุณภาพของการจ่ายไฟฟ้าจึงมีความสำคัญมาก

เพาเวอร์แฟคเตอร์(POWER FACTOR : PF) หรือตัวประกอบกำลังไฟฟ้า เป็นตัวประกอบสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการวัดประสิทธิภาพหรือคุณภาพของการจ่ายไฟฟ้าในอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีเพาเวอร์แฟคเตอร์ต่ำ มีผลทำให้ระบบการจ่ายไฟฟ้ามีคุณภาพต่ำไปด้วย การไฟฟ้าจึงจำเป็นต้องเพิ่มขนาดของอุปกรณ์ จำหน่ายไฟฟ้าให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถรับปริมาณพลังงานไฟฟ้า ส่วนที่ไม่จำเป็นหรือที่เรียกกันว่า พลังไฟฟ้ารีแอคทีฟ ซึ่งไม่มีผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม นอกจากนั้นยังต้องปรับปรุงคุณภาพการจ่ายไฟฟ้าให้มีแรงดันไฟฟ้าที่ต่ำลงด้วย ทำให้ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้นหากผู้ใช้ไฟฟ้าปรับปรุง POWER FACTOR ของอุปกรณ์ไฟฟ้าให้สูงขึ้น ผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะได้รับผลประโยชน์ไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชาติประหยัดพลังงานได้ในที่สุด

ถึงแม้ว่าได้มีการใช้ค่าปรับ POWER FACTOR เพื่อชักจูงผู้ใช้ไฟฟ้าให้ทำการปรับปรุง POWER FACTOR เพื่อการประยัดพลังงานมาช้านานแล้วก็ตาม แต่ยังมีผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นส่วนน้อยที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับปรุง POWER FACTOR ดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการประหยัดพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล การไฟฟ้านครหลวงจึงได้จัดทำ “โครงการศึกษาปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า (POWER FACTOR) ของผู้ใช้ไฟฟ้า” ขึ้น และเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติเพื่อขอรับการสนับสนุน ด้านการเงิน จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยจะดำเนินการปรับปรุงค่า POWER FACTOR ของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีค่าต่ำกว่า 0.85 Lagging ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 11,065 ราย และมีค่า POWER FACTOR มากกว่า 0.85 Lagging โดยการติดตั้งCapacitor จำนวนทั้งสิ้น 461.75 MVAR ซึ่งจะทำให้เพิ่มความสามารถของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ในระบบไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

การดำเนินงานในโครงการปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าที่มี PF. ของผู้ใช้ไฟฟ้าให้มีค่าสูงขึ้น 0.85 Lagging ซึ่งจะเป็นการลดกำลังไฟฟ้าที่จะสูญเสียไป และเพิ่มความสามารถในการรับ Load ของอุปกรณ์ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นทั้งของผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้จำหน่ายไฟฟ้าระบบส่งไฟฟ้า และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอันเป็นการประหยัดการใช้พลังงานของผู้ใช้ไฟฟ้า และประเทศชาติโดยรวมผลการดำเนินงานในโครงการนี้ จะก่อให้การอนุรักษ์พลังงานทางด้านไฟฟ้าเป็นไปอย่างถูกวิธีและเป็นรูปธรรม

โดยการไฟฟ้านครหลวงจะดำเนินการปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้า POWER FACTOR ของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มี PF. ต่ำกว่า 0.85 Lagging จำนวนทั้งสิ้น 11,065 ราย โดยกฟน. จะให้ความรู้คำแนะนำของประโยชน์ในการปรับปรุงค่า POWER FACTOR ต่อผู้ใช้ไฟฟ้า พร้อมกับเชิญบริษัทเอกชนที่มีคุณสมบัติตามข้อที่กำหนดไว้ และประสงค์ที่จะรับจ้าง กฟน. เพื่อดำเนินการสำรวจ ออกแบบและติดตั้งตัวเก็บประจุไฟฟ้า จำนวนประมาณ 461.75 MVAR โดยการประกวดราคา หรือการดำเนินการดังกล่าวพร้อมรับประกันความเสียหายที่เกิดกับอุปกรณ์ที่ทำการติดตั้งไว้เป็นเวลา 2 ปี ภายใต้การกำกับดูแลของ กฟน. พร้อมกับบริษัทฯ ดังกล่าวจะต้องตรวจสอบค่า POWER FACTORของผู้เข้าร่วมใช้ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการแต่ละปีและประกันความเสียหายของอุปกรณ์ตลอดระยะเวลาที่รับประกัน ไว้เพื่อการบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ได้สภาพที่ใช้งานปกติ โดย กฟน. จะขอรับการสนับสนุนด้านการเงินของโครงการฯกับกองทุนเพื่อส่งเสิรมการอนุรักษ์พลังงาน และให้ผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมสมทบทุนติดตั้ง Capacitorและอุปกรณ์ประกอบอีกส่วนหนึ่ง พร้อมกันนี้ กฟน. จะได้จัดทำแผนเพื่อการลงทุนปรับปรุง PF.ในระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. ให้มีค่า POWER FACTOR เท่ากับหรือมากกว่า 0.875 ด้วย

ผลที่คาดว่าจะได้รับ เพิ่มความสามารถของอุปกรณ์ต่างๆ ในระบบไฟฟ้าได้หรือมีความสามารถในการรับ Load ของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ในระบบไฟฟ้าได้เพิ่มมากขึ้น เท่ากับ 287.72 MW คิดเป็นเงินที่ประเทศชาติสามารถประหยัด การลงทุนขยายระบบไฟฟ้าได้ คิดเป็นจำนวนเงิน 641.103 ล้านบาทต่อปี

ลดพลังงานไฟฟ้าสูญเสีย ซึ่งทำให้ประเทศชาติสามารถประหยัดการใช้ไฟฟ้าได้เท่ากับ 97.81 GWh ต่อปี คิดเป็นเงินที่ประเทศชาติสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เท่ากับ 141.306 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นเงินที่ประเทศสามารถประหยัดได้รวมเท่ากับ 782.094 ล้านบาทต่อปี

ในขณะเดียวกันผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้ปรับปรุงค่าตัวประกอบกำลังไฟฟ้าได้สูงขึ้นแล้วสามารถเพิ่มความสามารถของสายไฟฟ้าของหม้อแปลงไฟฟ้าในการรับ Load ได้เพิ่มขึ้น 370.33 MW คิดเป็นเงินของผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้เท่ากับ 72.635 ล้านบาทต่อปี ประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ 651.86GWh ต่อปี คิดเป็นเงินที่ประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าได้ เท่ากับ 689.799 ล้านบาทต่อปี และนอกจากนี้ยังสามารถประหยัดค่าไฟฟ้ารีแอคทีฟได้อีก คิดเป็นเงิน 96.340 ล้านบาทต่อปี และประหยัดค่าไฟฟ้าอันเนื่องจาก Copper Loss และ Cable Loss คิดเป็นเงิน 66.13 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นเงินที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถประหยัดในการใช้พลังงานได้รวมถึง 924.904 ล้านบาทต่อปี รวมเงินที่สามารถอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดได้ประมาณ 1,707.331 ล้านบาทต่อปี

ที่มา เว็บไซต์สถาบันวิจัยพลังงาน

0 comments: