Saturday, November 15, 2008

สปริงรองแท่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จำเป็นต้องติดตั้งมั้ย?

โดยทั่วไปเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กมักจะมี (Vibration Isolator rubber type) ลูกยางรองแท่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาจากโรงงานอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องติดตั้งสปริงเพิ่ม (Vibration Isolator spring type) เพราะนอกจากจะเปลืองค่าใช้จ่ายแล้วยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเรโซแนนท์ resonance (คือการมีการสั่นสะเทือนมาก) ตามมาได้ ดังนั้น ถ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ประกอบสำเร็จรูปจากต่างประเทศมามีลูกยางรองแท่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้วไม่ต้องติดตั้งสปริงเพิ่มครับ ถึงแม้ว่าในสเปคจะระบุไว้ก็ตาม (เพราะสเปคบางทีก็ copy กันมา เอาสเปครุ่นใหญ่มาใส่รุ่นเล็ก บางทีข้อความในแบบกับในสเปคยังแย้งกันเลย) เพราะในแง่การใช้งานจริง ๆ แล้ว ถ้าติดตั้งสปริงรองแท่นเครื่องเพิ่มเข้าไปแล้วเครื่องมันสั่น (แล้วคุณจะติดตั้งมันเข้าไปทำไม ??) ถ้าเจอเหตุการณ์ติดตั้งสปริงแล้วมันสั่นมาก ลองถอดสปริงออกดูสิครับ ผมว่าเผลอ ๆ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเดินเรียบทำงานนิ่งเลยทีเดียวหล่ะครับ
แต่สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ประกอบในประเทศส่วนใหญ่จะไม่ได้ติดตั้งลูกยางรองแท่นเครื่อง ดังนั้นจึงต้องให้ผู้ขายจัดสปริงรองแท่นเครื่องให้ครับ

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ภาคต่อ

เคยมีคนถามกันเยอะครับว่าควรทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากี่ชั่วโมง ถ้าผมซื้อใช้เองนะ ก็จะเลือกใช้อยู่ระหว่าง Cummins กับ Caterpillar แล้วก็จะไม่ให้ทดสอบโหลดเทียมด้วย เนื่องจากถ้าผู้ซื้อต้องการทดสอบ generator ด้วยโหลดเทียม (load bank) มันต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มแน่นอน เช่น ค่าน้ำมัน, ค่าแรงช่าง, ค่าสึกหรอของโหลด เป็นต้น แล้วคุณจะไปเสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ทำไม ในเมื่อเขามีการรับประกันให้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าคุณทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยให้ลองเดินเครื่อง 8 ชั่วโมงบ้าง 10 ชั่วโมงบ้าง บางทีเคยเจอ 24 ชั่วโมง ถามหน่อยเหอะ ใครจะไปนั่งเฝ้าคอยจดผลการ test เปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ (ทำให้โลกร้อนเปล่า ๆ) ค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อก็เพิ่มขึ้น แถมต้องเสียเวลาไปนั่งฟังเสียงอันแสบแก้วหูในขณะที่ทดสอบอีกต่างหาก

Friday, November 14, 2008

ท่าอากาศยานไทย ประกวดราคาซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 1250kVA จำนวน 4 เครื่อง

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ต้องการประกวดราคาซื้อ พร้อมติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดไม่น้อยกว่า 1,250 kVA. ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 4 เครื่อง
กำหนดฟังคำชี้แจง, ตอบข้อซักถามและดูสถานที่ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 เวลา 10.30 น. โดยพร้อมกันที่ ส่วนจัดซื้อ ฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 6 อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อาคาร AOB)

กำหนดยื่นประกวดราคาซื้อในวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ถึง 9 ธันวาคม 2551 ระหว่างเวลา 13.30 น. ถึง 14.30 น. ณ ส่วนจัดซื้อ ฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 6 อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อาคาร AOB) และกำหนดเปิดซองใบเสนอราคาในวันที่ 9 ธันวาคม 2551 เวลา 14.30 น. ผู้สนใจติดต่อขอรับ/ซื้อเอกสารประกวดราคาซื้อ ในราคาชุดละ 16,000 บาท ได้ที่ ส่วนจัดหาพัสดุ ฝ่ายพัสดุ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 333 ถนนเชิดวุฒากาศ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10210 และที่ ส่วนจัดซื้อฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชั้น 6 อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (อาคาร AOB) ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.airportthai.co.th หรือสอบถามทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2535-1172 และ 0-2132-5409 ในวันและเวลาราชการ

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://view.gprocurement.go.th/01_procure/view_online_notice.php?id=240432&display_status=A

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต้องการเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 60kW 33 เครื่อง

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
ต้องการซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(PEA-I-032/2008) ขนาด 60 kW Prime Rating พร้อมตู้ครอบเครื่องแบบเก็บเสียง (ระดับความดังไม่เกิน 80 เดซิเบลที่ระยะ 1 เมตร จำนวน 33 เครื่อง
วงเงินงบประมาณเบื้องต้น 23,100,000 บาท
สนใจติดต่อสอบถามได้ที่
Email: prasit.koo@pea.co.th
หมายเลขโทรศัพท์ 02-5905314
ที่อยู่ของหน่วยงาน 200 ถ.งามวงศ์วาน จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 จังหวัดกรุงเทพมหานคร
หรือค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
http://tor.gprocurement.go.th/06_torview/view_tor.php?id=62384

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

จากราคาน้ำมันที่แนวโน้มสูงขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2550 ถึงกลางปี 2551 ทำให้มีหลายหน่วยงานถามถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงกันมาก (ไม่แพ้กับหลายๆ คนที่แห่เอารถยนต์ไปติดเครื่องแก๊สกันครับ) ในแง่ของราคาเท่าที่ทราบ ราคาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจะแพงกว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซล 2-3 เท่า เนื่องจากเทคโนโลยีของเครื่องแก๊ส ค่อนข้างจะใหม่ในประเทศไทย เท่าที่ทราบก็มี บจก.เมโทรแมชีนเนอรี่ ที่เคยติดตั้งให้กับโครงการบ่อขยะราชาเทวะ (เนื่องจากบ่อขยะได้แก๊สมาฟรีจากการหมักขยะ) และบางหน่วยงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ฟาร์มหมู นำเอาขี้หมูมาทำแก๊ส) มาแล้ว ในส่วนของแง่ทางเทคนิคนั้นต้องลงลึกละเอียดถึงขนาดว่าปริมาณแก๊สที่ได้มานั้นมีสัดส่วนของกำมะถัน คาร์บอน ฯลฯ ประมาณเท่าไหร่แล้วจึงจะนำค่าต่างๆ มาปรับแต่งเครื่องเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานอีกทีครับ

Wednesday, November 12, 2008

สถานที่ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Diesel Generator Set) จัดว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงงาน ฟาร์มไก่ (ระบบ Evap) รีสอร์ท อาคารสูง เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้หากไฟดับเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดความเสียหายมาก ดังนั้นการมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับสำรองในขณะที่ไฟดับ จะช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้ลดความเสี่ยงจากความเสียหายอันเนื่องมาจากไฟดับได้มากครับ

Tuesday, November 11, 2008

ที่อยู่ของ บจก.คัมมิ่นส์ ดีทแฮล์ม (ผู้จำหน่าย gen Cummins)

1696 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ
เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
โทร. 02-652-8510-9
แฟกซ์ 02-652-7635-6

Monday, November 10, 2008

การ sync gen ตอน 1

ปกติแล้วระบบ sync จะเป็นระบบที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซับซ้อน และมีราคาแพง โดยทั่วไปถ้าโหลดมาจาก 2 feeder 2 หม้อแปลง ควรจะแยกใช้ Gen 2 เครื่อง แยกกันจ่าย (โหลด emer แต่ละส่วนไม่มาเกี่ยวข้องกัน) อันนี้จะง่ายและประหยัดที่สุด แต่ในกรณีที่โหลดมาจาก feeder เดียว ผมก็ยังแนะนำว่าควรใช้ gen 1000 kVA เพียงตัวเดียวจ่ายโหลดเนื่องจากระบบไม่ซับซ้อน และราคาประหยัดกว่าใช้ gen 500kVA 2 เครื่อง Sync กัน เพราะถ้ามีระบบ sync เข้ามา ราคาตู้ sync ก็ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทแล้ว (เพราะฉะนั้นมักจะไม่เห็นเอาเครื่อง gen ขนาดเล็กมา sync กัน) เพราะเผลอ ๆ ราคาตู้ sync ใบเดียวยังแพงกว่าราคา gen อีกครับ

การทำห้องเก็บเสียงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตอน 2

โดยปกติสเปคมาตรฐานทั่วไปจะกำหนดระดับความดังของเสียงต้องไม่เกิน 85 dBA ที่ระยะ 1 เมตร เมื่อวัดจากผนังห้องด้านนอก แต่บางครั้งก็เคยเจอสเปคบางงานเหมือนกันครับ ที่ต้องการให้ระดับความดังของเสียงไม่เกิน 60 dBA ที่ระยะ 1 เมตร ซึ่งมันค่อนข้างจะเงียบมากเลยครับ เพราะปกติเสียงคนเราคุยกันก็จะดังอยู่ประมาณ 60-70 dBA แล้ว ยิ่งเอาไปใช้บนเกาะที่มีเสียงลม (บางทีระดับความดังเกิน 60 dBA) อีกครับ ซึ่งจะวัดยังไงก็เกิน 60 dBA อันเนื่องมาจาก Background noise (เสียงจากสิ่งแวดล้อม) ดังนั้นส่วนมากแล้วจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ เพราะการทำห้องเก็บเสียงให้ได้ 60 dBA ค่าใช้จ่ายจะแพงกว่า 85 dBA 2-3 เท่าเลยหล่ะครับ ดังนั้นผมแนะนำว่าเอาตามมาตรฐาน 85 dBA ก็น่าจะเพียงพอ หรือถ้าซีเรียสจริงๆ ก็สัก 75dBA ก็เหลือเฟือแล้วหล่ะครับ

Sunday, November 9, 2008

การทำห้องเก็บเสียงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตอน 1

โดยทั่วไปเครื่องกำเนิดไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ติดตั้งมักจะไม่ทำระบบเก็บเสียง เพราะค่าใช้จ่ายในการทำระบบเก็บเสียงค่อนข้างสูง แต่บ่อยครั้งครับที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้านำไปติดตั้งในสถานที่ที่จำเป็นต้องควบคุมระดับความดังของเสียง เช่น โรงพยาบาล, ที่พักอาศัย เป็นต้น ในเบื้องต้นหลักการพิจารณาว่าควรทำห้องเก็บเสียงหรือไม่ควรพิจารณาจากบริเวณห้องที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าติดตั้งว่าแวดล้อมไปด้วยอะไร ถ้าข้างๆห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นออฟฟิศที่ทำงาน หรือใกล้กับคนพักอาศัย ก็ควรจะทำระบบเก็บเสียง แต่ถ้าข้างๆห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นที่ติดตั้งเครื่องจักรอื่น ๆ หรืออยู่ใกล้กับถนนที่มีรถวิ่งพลุกพล่านตลอดเวลา ก็ไม่ควรทำครับ เพราะทำไปก็เสียเงินเปล่า เพราะข้าง ๆ เค้าดังอยู่แล้วครับ

ปกติถ้าซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใหม่ คนขายจะเติมน้ำมันให้มั้ย

ปกติถ้าคุณซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า คนขายจะเติมน้ำมันให้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการซื้อขายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่ตกลงกันไว้ตอนแรก แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ขายมักจะเสนอเติมน้ำมันให้ 25% ของความจุของถัง หรือไม่ก็เติมให้เต็มถัง (กรณีในสเปคระบุให้เติมเต็มถัง) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรจะตกลงกันไว้แต่แรกเพื่อป้องกันการโต้เถียงในภายหลังครับ