Thursday, November 6, 2008

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยการ Shock Load

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยการ shock load เพื่อเป็นการแสดงถึงความสามารถและความอึด (Heavy Duty) ของเครื่องยนต์ต้นกำลัง เพราะในขณะที่ใส่โหลดทันทีทันใด 100% เข้าไปนั้น จะทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ารอบตก และต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง (recovery time) ในการทำให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถกลับมาทำงานในลักษณะปกติ วิธีการทดสอบทำได้โดยการเซ็ทค่าโหลดที่ 100% หลังจากก็ off เซอร์กิตเบรคเกอร์ โดยที่ค่าโหลดที่เซ็ทไว้ยังคงเดิม แล้วทำการ On เซอร์กิตเบรคเกอร์ขึ้นไป ซึ่งในตลาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้นเห็นมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า Cummins Power Generation เพียงยี่ห้อเดียวที่รับประกันว่าสามารถทดสอบ shock load 100% ได้ทุกรุ่น เพราะมั่นใจถึงความแข็งแรงของเครื่องยนต์ สำหรับยี่ห้ออื่นนั้นอาจทดสอบได้เป็นเพียงบางรุ่น หรือบางยี่ห้อ ต้องนำเอาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดที่ใหญ่กว่าเพื่อนำเสนอให้ผ่านคุณสมบัติข้อนี้ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า การทดสอบเครื่องด้วยการ shock load นั้น จะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอมาก

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยโหลดเทียม ตอน 2

จากตอนที่แล้วเราพอทราบถึงการทดสอบโหลดเทียม (Dummy Load Test) ไปแล้ว ในความเห็นของผมถ้าท่านซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า Cummins จาก บจก.คัมมิ่นส์ ดีทแฮล์ม หรือ Caterpillar จาก บจก.เมโทรแมชีนเนอรี่ ท่านไม่มีความจำเป็นต้องทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยโหลดเทียม (Dummy Load Test) เนื่องจากสินค้าจากบริษัทเหล่านี้ เป็นสินค้าที่ประกอบสำเร็จรูปมาจากโรงงานที่ต่างประเทศ มีการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาจากโรงงานแล้ว อีกทั้งเป็นบริษัทที่มั่นคง ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามานานไม่ต่ำกว่า 20 ปี และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากทั้งสองบริษัทนี้ก็มีการรับประกันอยู่แล้ว ดังนั้นหากเกิดปัญหาในระหว่างการรับประกันท่านก็สามารถให้ทางบริษัทเข้ามาดูแลท่านได้

การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยโหลดเทียม (Dummy Load) ตอน 1

โดยปกติโหลดเทียม (Dummy Load) ที่นิยมใช้สำหรับทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยทั่วไปจะเป็น โหลดน้ำเกลือ หรือโหลด Heater โดยสมัยก่อนจะใช้โหลดน้ำเกลือกันเยอะ แต่ค่อนข้างจะยุ่งยากในการที่ต้องเตรียมสภาวะโหลด โดยต้องเติมน้ำและเกลือลงไปเป็นระยะๆ เพื่อรักษาระดับ power factor ให้ไกล้เคียง 1 แต่ในปัจจุบัน ผู้ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามักจะทดสอบด้วยโหลดฮีทเตอร์ Heater ซึ่งค่อนข้างสะดวกกว่ามาก (แต่ผู้ขายต้องลงทุนซื้อโหลด Heater หรือไม่ก็ต้องไปเช่ามา) โดยการทดสอบโหลดเทียม (Dummy Load Test) ที่ผู้ขายโดยทั่วไปเสนอจะเป็นการทดสอบที่โรงงานของผู้ขายเอง มากกว่าที่จะทดสอบที่หน่วยงานของผู้ซื้อ เนื่องจากเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ที่โรงงานจะพร้อมกว่าสะดวกกว่า สำหรับการทดสอบที่หน่วยงานของผู้ซื้อนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูงในการขนย้ายโหลดเทียม (Dummy Load) ไปยังหน่วยงาน ค่าแรงช่าง ค่าเช่าสายไฟ (ในกรณีที่สถานที่วางโหลดเทียมอยู่ห่างจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) เป็นต้น

พิกัดต้นกำลัง (Prime) กับสำรองฉุกเฉิน (Standby) ต่างกันอย่างไร

คำถามนี้เจอบ่อยมาก ผมยกตัวอย่างของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยทั่วไปที่แต่ละยี่ห้อจำหน่ายจะระบุพิกัดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังนี้

เช่น รุ่น C18 ของ Caterpillar ขนาด 550 เควีเอ 440 กิโลวัตต์ พิกัดแบบสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) หรือ 500 เควีเอ 400 กิโลวัตต์ พิกัดแบบต้นกำลัง (Prime Rating)
และ3456 ของ Caterpillar ขนาด 500 เควีเอ 400 กิโลวัตต์ พิกัดแบบสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) หรือ 455 เควีเอ 364 กิโลวัตต์ พิกัดแบบต้นกำลัง (Prime Rating)

จะสังเกตเห็นว่าพิกัดต้นกำลัง (Prime Rating) กับสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) ค่าเควีเอจะต่างกันอยู่ 10% คล้าย ๆ เป็นการเผื่อไว้ เนื่องจากเครื่องที่ใช้งานแบบต้นกำลัง (Prime) จะค่อนข้างทำงานหนักกว่าสำรองฉุกเฉิน (Standby) ดังนั้นจึงลดค่าพิกัดการเดินให้ต่ำลง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพิกัดสำรองฉุกเฉินกับพิกัดต้นกำลัง

โดยทั่วไปเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบ่งพิกัดตามการใช้งาน ดังนี้
1. พิกัดแบบสำรองฉุกเฉิน (Standby Rating) ใช้สำหรับหน่วยงานที่มีไฟหลวงใช้งานอยู่แล้ว และต้องการใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองในขณะที่ไฟดับ เช่น ฟาร์ม, โรงงาน, โรงพยาบาล, ศูนย์การค้า, อาคารสูง เป็นต้น ซึ่งโหลดอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ และควรเดินที่โหลดเฉลี่ยประมาณ 70%
2. พิกัดแบบต้นกำลัง (Prime Rating) โดยทั่วไปจะถูกนำไปใช้ในสถานที่ที่ไฟหลวงยังเข้าไม่ถึง ใช้เดินเครื่องตลอดเวลา ซึ่งโหลดอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ และควรเดินที่โหลดเฉลี่ยประมาณ 70%
3. พิกัดต่อเนื่อง (Continuous Rating) โดยทั่วไปจะใช้น้อยเนื่องจากพิกัดดังกล่าวใช้สำหรับโรงไฟฟ้า (Power Plant) ที่เดินจ่ายโหลดคงที่ต่อเนื่อง

ดังนั้นควรเลือกพิกัดกำลังให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานนะครับ

Wednesday, November 5, 2008

ขนาดที่เหมาะสมของห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

บ่อยครั้งครับที่เวลาออกแบบตึกหรืออาคารในตอนแรก จะลืมเตรียมพื้นที่สำหรับห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเอาไว้ ทำให้ต้องมาหาพื้นที่สำหรับวางเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทีหลัง ซึ่งขนาดของห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เหมาะสมนั้น ก็เกี่ยวโยงกับความสะดวกในการบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยทั่วไปควรมีพื้นที่ว่างทั้งด้านข้างและด้านหลังเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประมาณ 1 เมตร (ยิ่งมีพื้นที่มากยิ่งดีครับ) เพื่อสะดวกในการ Service ภายหลัง แต่หากพื้นที่ไม่มีจริงๆ ก็ควรมีพื้นที่ว่างด้านข้างและด้านหลังอย่างน้อยที่สุด 50 เซนติเมตร เพื่อให้คนสามารถเดินรอบเครื่องได้ครับ

การออกแบบแท่นคอนกรีตสำหรับวางเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

แท่นคอนกรีตสำหรับวางเครื่องกำเนิดไฟฟ้าควรมีขนาดใหญ่กว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างน้อยที่สุดด้านละ 10 เซนติเมตร เช่น ถ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร แท่นคอนกรีตควรจะมีขนาดกว้างอย่างน้อยที่สุด 120 เซนติเมตร ยาว 220 เซนติเมตร เป็นต้น ถ้าใหญ่กว่าด้านละ 30 เซนติเมตรจะดีมาก เพราะขณะที่เจ้าหน้าที่เข้าไปบำรุงรักษา จะสามารถยืนวางเท้าข้างเครื่องได้อย่างสะดวก