เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่ามองข้ามครับ เพราะบางทีการขนส่งก็ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงอย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน
เคยมีผู้รับเหมามาโอดครวญเข้าเนื้อเพราะตอนเสนอราคาเอางานตอนแรกก็เสนอราคาปกติ เป่า ๆ ราคาไปก่อน และเศรษฐกิจอย่างนี้ก็ต้องทุบราคาแย่งงานกันอุตลุต ไม่ได้เช็คราคากับผู้ขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก่อน ผลสุดท้ายพอจะสั่งซื้อจริงๆ งบบานปลายเรื่องค่าขนส่งครับ คงสงสัยกันใช่มั้ยครับว่างบจะบานปลายได้อย่างไร
ผมขอชี้แจงดังนี้ครับ
1. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องยกขึ้นชั้นสูงของอาคาร (อันนี้งบจะบานครับเพราะต้องหาเครนมา เพราะต้องพิจารณาถึงน้ำหนักของเครื่อง ตำแหน่งการยืนของเครน ระยะบูมของเครน เพราะถ้าน้ำหนักของเครื่องมาก ตำแหน่งการยืนอยู่ห่างจากตัวอาคารซึ่งต้องยิงบูมไกลด้วยแล้ว ยิ่งต้องเครนหลายตัน ซึ่งราคาการเช่าเครนคิดเป็นรายวัน เช่น เครน 20 ตัน เช่ามายกก็ประมาณวันละสองหมื่นถึงสามหมื่นบาท และบางครั้งถ้าต้องยกในกรุงเทพฯ ซึ่งการจราจรพลุกพล่านด้วยแล้ว ก็ต้องยกกันในเวลากลางคืน ต้องปิดถนน (ทำให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับการอำนวยความสะดวกทางจราจร) เป็นต้น) หรือบางท่านใช้วิธีลากเครื่องผ่านทางลาดต้องระวังเรื่องการรับน้ำหนักของพื้นแต่ละชั้นด้วย ถ้าพื้นรับไม่ได้ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการตั้งเสาค้ำยันแต่ละชั้น
2. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องลากลงชั้นใต้ดินของอาคาร (อันนี้ต้องอาศัยทีมงานที่มีฝีมือครับ ถ้าฝีมือไม่ดีทำให้เครื่องกระแทก เครื่องก็อาจได้รับความเสียหายได้
หรือบางครั้งลากลงชั้นจอดรถใต้ดิน โดยลากลงผ่านทางลาด (ramp) ซึ่งเป็นทางวนเหมือนทางขึ้นที่จอดรถ อันนี้ก็ยากครับ บางทีใช้เวลากันเป็นวัน ๆ และต้องปิดการจราจรด้วย) และเรื่องการรับน้ำหนักของพื้นเช่นเดียวกับข้อข้างบน
3. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องลากผ่านสนามหญ้าสวยงามอันเป็นที่หวงแหนของท่านเจ้าของโครงการ (อันนี้ นานาจิตตังครับ เหนื่อย เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในการหาอุปกรณ์มาป้องกันสนามหญ้า หรือถ้ามันพังไปแล้วก็จะมีค่าใช้จ่ายในการปูหญ้าใหม่ครับ หรือเจ้าของบางท่านไม่ยอมเด็ดขาดอย่ามาทำอะไรกับสนามหญ้าอันหวงแหนของข้าพเจ้า ก็ลำบากต้องจ้างเครนยกข้ามสนามหญ้าหล่ะครับงานนี้)
4. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่กว่าช่องทางที่จะนำเข้า (ยุ่งเหมือนกันครับ ถ้าแบบง่าย ๆ ก็ทุบขยายช่องครับ แต่บางทีทุบไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีการแยกชิ้นส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออก เป็นเครื่องยนต์, ชุดกำเนิดไฟฟ้า, หม้อน้ำ เป็นต้น แล้วก็ไปประกอบกันอีกที บางงานเจอว่าต้องเอาเครื่องไว้ขึ้นบนอาคาร และไม่มีทางที่จะนำเครื่องเข้าได้เลย ต้องอาศัยลิฟต์ ซึ่งประตูเข้าลิฟต์ก็แคบ ต้องใช้วิธีแยกชิ้นส่วนดังกล่าว ยังเคราะห์ดีครับที่ลิฟต์ยังสามารถรับน้ำหนักชิ้นส่วนที่แยกแต่ละชิ้นได้ ถ้าลิฟต์รับน้ำหนักไม่ได้ ก็ตัวใครตัวมันหล่ะครับ)
5. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต้องขนส่งข้ามเกาะ (เช่น เกาะบางเกาะไม่มีเรือเฟอร์รี่ที่สามารถรับน้ำหนักของรถบรรทุกที่มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าบรรทุกมาด้วยได้ ก็ต้องอาศัยใช้เครนยกเครื่องลงเรือ พอไปถึงเกาะคราวนี้ปวดหัวอีกจะเอาขึ้นเกาะยังไง เพราะไม่มีท่าเทียบเรือ และยิ่งบนเกาะไม่มีเครนด้วยหล่ะ จุกหล่ะครับงานนี้ อีกตัวอย่างคือพายุเข้าครับ สมมตินัดจะส่งเครื่องวันที่ 16 พอรถบรรทุกวิ่งไปถึงท่าเรือ ปรากฏว่าพายุเข้าครับ ต้องรอพายุไปก่อน แล้วก็ไม่รู้มันจะไปเมื่อไหร่ นี่เสียค่าเช่ารถบรรทุกเป็นรายวันแล้วครับ (ไม่รู้กี่วันอีกต่างหาก เผลอๆต้องขนเครื่องกลับไปก่อน) และต้องจองเรือกันด้วยบางเกาะเรือที่จะบรรทุกได้ก็มีน้อยเต็มทีต้องรอคิว กว่าคิวจะว่างก็เจอปัญหาต้องรอน้ำขึ้นน้ำลงอีก นี่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งทำให้งานล่าช้า พองานเสร็จไม่ทันโดนปรับตามมาอีกครับ ซวยหลายเด้งเลยงานนี้)
6. ข้อนี้ซวยน้อยหน่อยครับ ขนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปถึงหน่วยงานปรากฏว่าคืนก่อนหน้าฝนตกหนัก พื้นเละเข้าหน่วยงานไม่ได้ เพราะขืนดึงดันวิ่งเข้าไปติดหล่มแน่ ต้องเดือดร้อนเอารถมาช่วยลากกันหล่ะครับ เคราะห์หามยามซวยเครื่องจะตกลงมาซะอีก บางท่านก็ใช้วิธีให้ขนกลับไปก่อนพอพื้นแน่นก็ให้ขนมาใหม่ครับ
เพราะฉะนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยครับเกี่ยวกับสถานที่ที่จะติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าครับ
Thursday, June 18, 2009
การขนส่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า บางครั้งก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด
Posted by Kongming at 5:34 AM
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment